0
Your Cart

ประตูรีโมท มีกี่ประเภท ? และควรเป็นประตูแบบไหน ?

ประตูรีโมท นั้นได้มีการคิดค้นและพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 โดย Fred W. Watson ชาวแคนาดา ซึ่งเขาได้คิดค้นมาเพื่อใช้สำหรับ ระบบงานรางรถไฟ ซึ่งในปี ค.ศ.1884 นั้น หนังสือพิมพ์ของอเมริกันก็ได้ลงข่าวว่า รถไฟของฝรั่งเศสนั้นกำลังจะเปิดตัว “ประตูรีโมทไฟฟ้า” เพื่อใช้กับ รางรถไฟ ซึ่งในปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่ออำนวยความสะดวกในการผ่านเข้าและออกได้อย่างง่ายดาย เพราะการควบคุมประตูด้วยรีโมทนั้นไม่จำเป็นต้องไขกุญแจ นอกเหนือจากการทุ่นแรงของการเปิด-ปิดประตูแล้ว แม้ในฤดูฝนก็ไม่ต้องเปียกฝนเพราะการเปิด-ปิดประตูอีกต่อไป และที่สำคัญคือความปลอดภัยต่อการโจรกรรมมากยิ่งขึ้น 

ใช้งานได้ทุกสถานที่ ประตูบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ประตูร้านค้า ประตูสำนักงาน ประตูอาคารต่างๆ โดยประตูรีโมทนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • ประตูรีโมทบานเลื่อน
  • ประตูรีโมทบานสวิง
  • ประตูรีโมทบานม้วน
  • ประตูรีโมทโรงรถ

ประตูรีโมทบานเลื่อน จะอาศัยการหมุนของมอเตอร์ โดยอาศัยสะพานเฟืองในการขับเคลื่อนประตู ซึ่งใช้หลักการจากการหมุนของมอเตอร์เป็นแรงขับ จะเป็นลักษณะการเปิด-ปิด แบบเลื่อน โดยตัวประตูนั้นจะวิ่งอยู่บนล้อ วิ่งไปตามรางเหล็กที่วางติดกับพื้นนั่นเอง อีกทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อความสะดวกและความปลอดภัยได้อีกด้วย เช่น เซ็นเซอร์ป้องกันประตูหนีบสิ่งกีดขวางหรือสัญญาณไฟเพื่อแสดงการทำงานของมอเตอร์เพื่อเพิ่มความระมัดระวังให้แก่ผู้ใช้งาน ที่นิยมใช้ส่วนมากจะใช้ในประตูหน้าบ้านที่มีบริเวณความกว้าง และเหมาะสมที่จะสามารถเก็บประตูทั้งบานได้ ซึ่งประตูรีโมทประเภทนี้มีราคาและการติดตั้งที่ค่อนข้างถูกกว่าและง่ายกว่าประตูรีโมทประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังดูแลรักษาง่าย อายุการใช้งานนั้นสามารถใช้งานได้มากกว่า 10 ปีอีกด้วย

ประตูรีโมทบานสวิง จะเป็นลักษณะบานประตูสองบาน ซึ่งเปิดและปิดในรูปแบบของบานสวิง ซึ่งบานประตูจะถูกยึดติดกับหัวเสาของทั้งสองด้าน ใช้หลักการทำงานโดยการดึง คืออาศัยแรงดึงของมอเตอร์ นิยมใช้สำหรับประตูหน้าบ้านที่มีพื้นที่ไม่กว้าง แต่มีความลึกเพียงพอต่อการเก็บบานประตูโดยไม่กีดขวางการผ่านเข้าหรือออก ซึ่งประตูรีโมทบานสวิงนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ

  • Arm Type (แบบแขน)
  • Underground Type (แบบฝังพื้น)

ซึ่งจุดเด่นของประตูรีโมทประเภทนี้คือ ความสวยงาม และให้ความหรูหรา แต่ราคาและการติดตั้งนั้นจะ มีราคาสูงและซับซ้อนกว่าประตูรีโมทบานเลื่อน และสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้เช่นเดียวกัน แต่เงื่อนไขการติดจะแตกต่างออกไป เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ป้องกันนั้นจำเป็นจะต้องติดอย่างน้อยสองจุดด้วยกัน โดยมีตำแหน่งการติดตั้งที่ จุดกลางเสาของประตูและจุดปลายประตูที่ประตูเปิดสุด เพื่อป้องกันการเกิดประตูหนีบในขณะที่ยังมีรถอยู่ในบริเวณนั้น หรือมีสิ่งกีดขวางอยู่นั่นเอง 

ประตูรีโมทบานม้วน มีระบบการทำงานโดยใช้การหมุนของมอเตอร์ โดยบานประตูบานม้วนจะพันกับแกนเพลาของตัวมอเตอร์ ประตูรีโมทบานม้วนนั้นก็สามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ป้องกันการหนีบของประตู ติดตั้งปุ่มหยุดการทำงานฉุกเฉิน ซึ่งประตูเหล็กม้วนนั้นมีระบบ ‘รอกโซ่’ ในตัวมอเตอร์ทำให้สามารถควบคุมด้วยตนเองได้แม้ในกรณีที่ไฟฟ้าขัดข้อง

ประตูรีโมทโรงรถ เป็นประตูที่นิยมใช้มากที่สุดในต่างประเทศ ซึ่งในประเทศไทยนิยมติดตั้งเพื่อเป็นโรงรถสำหรับ Super Car ประตูประเภทนี้จะมีความเร็วในการเปิด-ปิดสูงกว่าประตูประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมได้ ที่นิยมติดตั้งกันคือ การติดตั้งสัญญาณไฟเพื่อแสดงสถานะการทำงานของประตู ติดตั้งอุปกร์เซ็นเซอร์ป้องกันประตูหนีบ เป็นที่นิยมสำหรับผู้ต้องการความสวยงามและเรียบหรู

ประเภทของประตูสำหรับการติดตั้งมอเตอร์

ประตูเหล็ก

ประตูเหล็กจะเป็นประตูที่เหมาะสมแก่การติดตั้งมอเตอร์มากที่สุด แต่ถ้าหากมีความยาวมากจะมีโอกาสโก่งตัวมาก ซึ่งมอเตอร์ที่ต้องใช้จึงจะต้องเป็นมอเตอร์ที่ตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจมีโอกาสที่การทำงานของประตูรีโมทจะเกิดความผิดพลาดขึ้นได้

ประตูไม้

เนื่องจากประตูที่ทำด้วยไม้ เวลาที่ฝนตกนั้นจะทำให้ประตูมีน้ำหนักมากขึ้นถึง 30% จึงไม่แนะนำให้ใช้ประตูไม้สำหรับการติดตั้งมอเตอร์ 

ประตูบานเล็ก

ประตูบานเล็ก ที่เป็นประตูสำหรับให้คนเดินผ่านเข้า-ออก ในประตูบานใหญ่ ไม่ควรติดตั้งมอเตอร์ เนื่องจาก หากในกรณีที่ปิดประตูบานเล็กไม่สนิทนั้นจะส่งผลให้เกิดการงัดกันของประตู ซึ่งส่งผลต่อระบบอย่างแน่นอน

และในกรณีพื้นที่มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมควรทำประตูให้มีกระดูกงูที่กลางบานประตู เพื่อยกระดับมอเตอร์ให้อยู่ในพื้นที่สูงขึ้น